ข้อมูลเพิ่มเติม: ความชุกของเชื้อไข้หวัดนกในนกปากห่าง
ความทั่วไปที่ควรรู้ก่อนวิเคราะห์ปัญหา
นกปากห่างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ลำดับที่ 616 ดังนั้น “ห้ามล่า พยายามล่า ค้า นำเข้า ส่งออก เว้นแต่ได้รับอนุญาต ผู้ใดฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ตามมาตรา 12 22 29 ประกอบมาตรา 89
ทีนี้มาดูคำจำกัดความคำว่า ล่า ตามพรบฉบับนี้ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4
การล่า หมายถึง “เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นกับสัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ ให้หมายรวมถึง การไล่ ต้อน เรียก ล่อ หรือการอื่นๆ เพื่อเก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า ทำอันตรายแก่สัตว์ป่านั้น” แต่การคุ้มครองนี้มี
ข้อยกเว้น มาตรา 13 ผู้ใดล่าสัตว์ป่าที่เป็นการฝ่าฝืนต่อพรบนี้ด้วยความจำเป็น ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
(1) ล่าเพื่อให้ตัวเองหรือคนอื่นพ้นจากอันตราย หรือ เพื่อสงวน รักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น และ
(2) การล่าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ
ปัญหา
นกปากห่างมีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ตามแหล่งอาหาร อย่างกรณีในข่าว ไปรวมตัวกันที่สวนมะม่วงของชาวบ้านนานกว่า 3 ปี ซึ่งนกเหล่านี้ไม่ได้กินมะม่วงหรือผลผลิตของชาวบ้าน เพียงแต่มันกินหอยเชอร์รี่ (apple snails) และมูลของพวกมันที่สร้างความเสียหาย และการไปทำรังบนต้นมะม่วงจนใบร่วงโรยล้มตาย ส่วนชาวบ้านก็เคยพยายามตัดโค่นมะม่วงทิ้ง แต่ก็ควบคุมประชากรนกไม่ได้อยู่ดี ต่อมาชาวบ้านไปแจ้งกับนายอำเภอ ให้เจ้าหน้าที่นำโดรนมาบินเพื่อสำรวจประชากรนก ปรากฏว่ามีเยอะจนนับไม่ถ้วน (ประมาณหลักแสนตัว) อีกปัญหาคือขน เปิดประตูหน้าต่างบ้านไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านแถวนั้นป่วยเป็นภูมิแพ้กันหมด สรุปง่าย ๆ 1.กลิ่นมูลสัตว์ 2.ต้นมะม่วงตาย 3.ขนปลิว 4.ภูมิแพ้
วิเคราะห์ทางแก้ปัญหา
นกปากห่างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จะไปล่า ฆ่าทิ้งมันทำไม่ได้ตามกฎหมาย หรือจะเอาตาข่าย เอาแหโยนแล้วจับทั้งฝูงไปปล่อยที่อื่นก็เกิดปัญหากับพื้นที่นั้นอีก (ดีไม่ดีกลับมาที่เดิม) บางคนอาจเห็นว่า นกพวกนี้สร้างแต่ความเดือดร้อน กำจัดทิ้ง (ด้วยวิธีการใด ๆ) ก็สิ้นเรื่อง แต่อย่าลืมว่านกกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นต้องอยู่ร่วมกัน และในกรณีนี้ นกปากห่างไปสร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ ของมนุษย์ (ที่หมายถึง การเป็นเจ้าของตามกฎหมายที่ มนุษย์ เป็นคนเขียน) คำถามคือ จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะนกปากห่างก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศพอสมควร
ไม่แน่ใจว่าโลกที่ไม่มีนกปากห่างจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ การหายไปของสิ่งมีชีวิตนึง มันส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นทอด ๆ
จะกำจัดนกปากห่างให้หมดโลกไปเลยมันเป็นไปไม่ได้ จากแผนภาพที่วาดด้านบน น่าจะพอมองออกว่าการมีอยู่ของนกปากห่างมีผลต่อการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นเยอะมาก ทั้งยังมีประโยชน์กับเกษตรกรเรื่องการช่วยกำจัดศัตรูพืชด้วย
ตอนนี้ทางแก้ที่สามารถทำได้ทันทีคือ ฉีดน้ำแรงดันสูง โดยอาจให้รถดับเพลิงในพื้นที่มาฉีด ไม่ก็ใช้กระจกสะท้อนแสง วิ่งไล่ทำเสียงดัง (เคยมีบางพื้นที่ ชาวบ้านถึงขนาดยิงหนังสติ๊กใส่) ข้อเสียคือ ต้องทำสม่ำเสมอเพื่อให้ฝูงบินอพยพไปที่อื่น ซึ่งหากไปที่ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ ก็กลายเป็นไปสร้างความเดือดร้อนให้พื้นที่นั้นอีก ว่าง่าย ๆ ฝูงที่มันมหาศาลมาก ๆ วิธีเหล่านี้มันจะเป็นแค่ทางแก้ระยะสั้นและไม่มีประสิทธิภาพเอาซะเลย
ถามว่า กฎหมายไม่คุ้มครองคน ทำอะไรก็ไม่ได้หรือ อธิบายก่อนว่า หากได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของสัตว์ป่า เราสามารถแจ้งกรมอุทยานแห่งชาติเพื่อขอแผนการช่วยเหลือเยียวยาได้ค่ะ แต่ก็ได้แค่แผนเท่านั้นแหละ เงินเยียวยาอะไรอย่างนั้นคงจะไม่ได้ เพราะกฎหมายังไม่มีการบัญญัติให้นกปากห่างเป็นเหตุภัยพิบัติ ซึ่งเราเห็นว่า แม้นกปากห่างจะเปลี่ยนสถานะจากนกอพยพ (migratory bird) มาเป็นนกประจำถิ่น (resident bird) ของไทย แต่ความเสียหายยังอยู่ในระดับที่ไม่ร้ายแรงและเป็นวงกว้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นยังเกิดอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้แนะนำให้ชาวบ้านไปแจ้งอบต.ก่อน แล้วก็ส่งเรื่องไปอำเภอ แล้วก็ส่งไปถึงจังหวัด ไปจัดการดูว่าเกณฑ์ความเดือดร้อนนั้นมันเข้าข่ายไหม จังหวัดนั้น ๆ จึงค่อยอนุมัติปล่อยงบส่วนกลางเรื่องภัยพิบัติออกมาใช้แก้ปัญหาเป็นคราว ๆ ไป
อย่างไรก็ตาม การควบคุมประชากรนกปากห่างและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องไม่ถูกมองข้าม เห็นใจทั้งชาวบ้าน เห็นใจทั้งนก ทั้งสองฝ่ายต่างต้องใช้ทรัพยากร แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยร่วมกัน ทางออกที่ใช้จึงควรเป็น ทางออกแบบร่วม เรากับนกมีสถานะเป็น coexistence
ในความเห็นเรา หากจะจัดทำนโยบายจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า (Human Wildlife Conflict) ซึ่งในที่นี้คือนกปากห่าง อาจอิงจาก มาตรการเยียวยาความเสียหายจากช้างป่า ที่ผ่านมาของไทยก่อนได้ในระดับหนึ่ง แอบไปเห็น นโยบายของพรรคก้าวไกล เรื่อง การปรับค่าชดเชยเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากช้างป่า กรณีช้างเหยียบไม้ผล ไม้ยืนต้น เราว่ามันดีมากเลยนะ อาจลองศึกษานโยบายนี้ของเขาเป็นแนวทางประกอบ เลยขอแปะมาให้ดูกัน
แต่จ่ายเงินแล้วปัญหามันยังไม่จบ มันเป็นแค่การเยียวยา นกไม่ได้ไปไหน ชาวบ้านยังอยู่กับความเสียหายนั้นเช่นเดิม เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องสร้างมาตรการบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และที่สำคัญต้องแก้ได้ในระยะยาว
เราตั้งข้อควรพิจารณาไว้
1.การป้องกันและลดระดับความเสียหาย
การป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
2.มาตรการที่ใช้กับความเสียหาย
ประเมินความเสียหาย หลังจากนั้น
3.การเยียวยาจากความเสียหาย
เกณฑ์สำหรับการพิจารณาว่าเป็นความเสียหายที่ควรได้รับการเยียวยา และจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างไร
รัฐควร(ต้อง) คำนึงถึงผลดี ผลเสียของทั้งสองฝ่ายอย่างรอบคอบค่ะ
ซึ่งตอนร่างก็ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย
RIA ซึ่งประกอบไปด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมาย
เราร่างสภาพปัญหา สาเหตุปัญหา และผลกระทบของปัญหาไว้
คือต้องระบุก่อนว่า ปัญหาคืออะไร
ทำไมรัฐจีงควรแทรกแซงเรื่องนี้
ต่อมาเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการแทรกแซง วิธีแก้ปัญหาที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันคืออะไร ต่างประเทศแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ตรงนี้เราว่าสำคัญ เพราะต่างประเทศมักมีแนวทางที่เหมาะสมกับปัญหาในเรื่องลักษณะเดียวกันนั้น ก่อนไทย คือไม่จำเป็นต้องเป็นนกพันธุ์นี้ก็ได้นะ ที่อื่นเขามีวิธีมาตรการจัดการกับปัญหานกแบบนี้ไหม อย่างอเมริกานี่มี รัฐบัญญัติสนธิสัญญานกอพยพ Migratory Bird Treaty Act. (MBTA) (ซึ่งไทม์ไลน์event actนี้มีการต่อสู้กันยาวมาก ในช่วงTrump eraเกือบโดนยกเลิกถาวร เพราะประเด็นไม่สามารถฆ่านกที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายได้นี่แหละ), ส่วนในโครเอเชียมี Legal Grounds for Determination of Liability from a Bird Strike แต่กรณีนี้ นกบินชนเครื่องบิน (bird strike) อ้าง Warsaw Convention อนุสัญญาเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ ข่าวดังบ่อยๆก็นกชนเครื่องบนนั่นแหละค่ะ (ที่ไทยก็มีนะ นกปากห่างเลย) นกสร้างความเสียหายให้ตัวเครื่องบิน มากไปกว่านั้นอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในชีวิตกับผู้โดยสาร ซึ่งถ้าในการดำเนินการต่างประเทศนกพันธุ์อื่นมีการสร้างความเดือดร้อนในลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่ และเค้าทำยังไง จะว่าไปข้อนี้เป็นการช่วยเบาภาระของผู้ร่างมากๆค่ะ เหมือนมีแนวทางไว้ให้ นอกจากนี้ ยังต้องดูความเหมาะสมว่าการดำเนินการดังกล่าวเหมาะกับไทยหรือไม่ ทั้งต้องมีการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ดูว่าใกล้เคียงกับกฎหมายอื่นหรือไม่ ผลกระทบที่อาจเกิดจากกฎหมาย ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพใคร หรือทำให้เกิดหน้าที่ภาระอะไรบ้าง แนวทางและระยะเวลาเตรียมการ ต้นทุนค่าใช้จ่ายต้องใช้ในการปฏิบัติตามประมาณเท่าใด ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาวะด้วย
[ ซึ่งๆๆ เราก็สนใจจะลองร่างของร่างกฎหมายอีกทีหนึ่ง เพราะการร่างกฎหมาย (legislative drafting) จริงๆจังๆ มันท้าทายและไม่ง่าย ต้องใช้ถ้อยคำที่ถูกต้อง ที่แน่นอน (ตามนิยามของ ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย) ต้องเขียนให้มนุษย์ปกติอ่านเข้าใจได้ สื่อให้ได้ว่ากฎหมายที่จะออกไปนั้น ไปควบคุมพฤติกรรมคนในสังคมอย่างไร หรือจะมีการกำกับให้เจ้าหน้าที่รัฐทำอะไร อย่างไร
อีกนัยหนึ่ง ทางนิติศาสตร์จะเรียกว่า การยกร่าง ซึ่งลักษณะของร่างนั้นควรทำให้เสมือนจะนำไปใช้เป็นกฎหมายในระดับหนึ่ง เพียงแต่ร่างนั้นยังไม่เป็นข้อยุติ คือ ยังต้องรอการพิจารณาร่างจากผู้มีอำนาจในการบัญญัติกฎหมายก่อน เช่น จากรัฐสภา ครม รมต เป็นต้น (ข้อสังเกต ยกร่าง ไม่เท่ากับ พิจารณาร่าง)
เราอาจไม่มีความสามารถในการดิ่งลงลึกขนาดทำเป็นร่างได้จริงๆ ถ้าจะทำก็คิดว่าทำได้แบบผิวเผินหัวข้อหมวดใหญ่ๆ แต่ถึงกระนั้นก็คงต้องใช้เวลาพอควร และอาจต้องถามผู้เชี่ยวชาญหลายๆศาสตร์ เพราะนอกจากความรู้ด้านกฎหมาย ยังต้องอาศัยความรู้จากศาสตร์อื่น อย่างสัณฐานวิทยา การเจริญเติบโตและพฤติกรรม ประชากรศาสตร์ ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ที่ดินการเกษตร บล่าบล้าบลา ไว้ตอนไหนผีเข้าอยากทำ เราจะรวบรวมข้อมูลมาเขียนเพิ่มในนี้
เพราะตอนนี้งานในชีวิตจริงแน่นมาก T-T (บอกตัวเอง) ]